มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

 

ทำความรู้จักกับเต้านม

เต้านมนั้นมีส่วนประกอบอยู่หลายชนิด เช่น ไขมัน (fat cells) ต่อมน้ำนม (lobule) ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำนม และท่อนํ้านม (duct) ทำหน้าที่รวบรวมน้ำนมทีผลิตจากต่อมน้ำนมมายังหัวนม เซลล์ต่างๆ เหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เกิดเป็นมะเร็งได้ทั้งนั้น แต่ที่พบบ่อยที่สุดที่เกิดความผิดปกติ และทำให้เกิดมะเร็งเต้านม คือ เซลล์ท่อนํ้านม

ดังนั้น มะเร็งเต้านมชนิดที่พบบ่อยที่สุด จึงมีชื่อเรียกว่า (invasive ductal carcinoma) และชนิดของมะเร็งที่พบน้อย คือ มะเร็งของต่อมนํ้านม ที่มีชื่อเรียกว่า (invasive lobular carcinoma) ซึ่งมะเร็งทั้งสองชนิดนี้มี วิธีการรักษาเหมือนกัน และอีกชนิดสุดท้าย ซึ่งพบเป็นก้อนที่เต้านมเกิดจากมะเร็งจากที่อื่นแพร่กระจายมา เรียกว่า (metastatic carcinoma) ซึ่งอันนี้ การรักษาจะไม่เหมือนกับมะเร็งที่เกิดจากเต้านมและต้องรักษาตามชนิดของมะเร็งตัวแม่ที่ส่งเซลล์แพร่กระจายมา ซึ่งจะไม่กล่าวถึง


มะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับ 1
ในผู้หญิงไทยและทั่วโลก มะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด จากการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆในประเทศไทยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ.2559 พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1

 

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

  1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ยิ่งถ้ามีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมก็ยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่มีแม่ น้องสาว พี่สาว หรือบุตรเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ควรต้องได้รับการตรวจเช็คมะเร็งเต้านม
  2. อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติของยีนในเซลล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้
  3. มีประจำเดือนอายุน้อย (น้อยกว่า 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (มากกว่าอายุ 50 ปี) ทำให้ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานกว่าผู้หญิงปกติ
  4. เพศ ผู้ชายอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่น้อยกว่าผู้หญิงมาก ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า
  5. เต้านมมีเนื้อเยื่อแน่น หมายถึง มีต่อมนํ้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และอีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้แพทย์พบความผิดปกติได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเต้านมหรือการใช้เครื่องมือช่วยวินิจฉัย
  6. เชื้อชาติ มีความสำคัญ ผู้หญิงตะวันตกมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงชาวเอเชีย
  7. ประวัติดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เหล้าเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ดื่มมากกว่า2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม 1.5 เท่า
  8. อ้วน ความอ้วนนอกจากจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวานเท่านั้น ยังทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
  9. ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมมารดา เนื่องจากช่วงให้นมบุตรจะทำให้มารดาไม่มีประจำเดือนมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและป้องกันมะเร็งเต้านมได้

    **ถ้าพบว่าตัวคุณเองเข้าได้กับข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นซึ่งทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมคุณควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
     

ลักษณะที่บ่งชี้หรือต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

อาการต่างๆ ต่อไปนี้อาจบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งซึ่งคุณควรไปปรึกษาแพทย์ทันที

  • คลำได้ก้อนแข็งในเต้านม
  • มีความเปลี่ยนแปลงของลักษณะผิวเต้านม มีก้อนขรุขระ หรือมีแผลที่ไม่หาย ผิวหนังแข็ง หรือมีสีเปลี่ยนแปลง
  • ลักษณะของผิวเต้านมเห็นรอยรูขุมขนชัดขึ้น ซึ่งทำให้ดูคล้ายลักษณะของผิวส้มซึ่งเกิดจากมีเซลล์มะเร็งอยู่ใต้ชั้นผิวหนังในบริเวณหลอดนํ้าเหลือง
  • มีรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านม
  • หัวนมบุ๋ม
  • เลือดออกจากหัวนม
  • เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตามที่เต้านมเพียงข้างเดียว






การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม

  1. มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะในเต้านม ต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้ยังไม่มีการลุกลามไปอย่างสำคัญ หมายถึง มักจะยังคลำก้อนผิดปกติที่เต้านมไม่ได้ และยังไม่มีการกระจายไปที่ใด
  2. มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ระยะนี้โรคมักจะเป็นค่อนข้างมาก เช่นก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้น มากกว่า 5 เซ็นติเมตรขึ้นไป หรือมีการลุกลามไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้ เช่น คลำ ได้ก้อนที่รักแร้ ยิ่งถ้าใหญ่หรือติดกับเนื้อเยื่อข้างใต้ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะห่างไกล
  3. มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย คือ มีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะห่างไกล เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น
8

การตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งเต้านม

เนื่องจากมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าพบในระยะเริ่มแรกดังนั้น การตรวจพบแต่เนิ่นๆคือหัวใจสำคัญ วิธีการที่ทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่แรกๆมี

  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (BSE, breast self examination)
  2. การตรวจเต้านมด้วยแพทย์ (CSE, clinical breast examination)
  3. ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (mammography)


1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

  • ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ
    ควรตรวจหลังจากหมดประจำเดือน เนื่องจากเต้านมจะลดความตึงลงสามารถคลำได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นของเดือน
  • ขั้นตอนในการตรวจ
    1. ดูหน้ากระจก เพื่อดูว่าเต้านมสองข้างเท่ากันหรือไม่ หัวนมอยู่ในระนาบเดียวกันไหม ผิวเต้านมมีรอยบุ๋มหรือมีแผลอะไรผิดปกติหรือไม่ หัวนมบุ๋มลงไปผิดปกติหรือไม่
    2. คลำ ขั้นตอนนี้ควรทำในท่านอน โดยเอาแขนด้านที่จะตรวจรองไว้ใต้ศีรษะ และเอาผ้าเล็กๆมารองบริเวณไหล่เพื่อให้ตรวจได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้คลำเต้านมให้ทั่วๆ โดยอาจคลำวนเป็นก้นหอย หรือคลำเป็นส่วนๆของเต้านมก็ได้แล้วแต่ความถนัด โดยหลักใหญ่คือการคลำให้ทั่วเต้านม ถ้าสัมผัสพบก้อนสะดุดมือผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยัน
    3.สุดท้ายให้บีบหัวนมดูว่ามีของเหลว เลือด ผิดปกติไหลออกมาหรือไม่ ถ้ามีให้พบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

 

2. การตรวจเต้านมด้วยแพทย์

เมื่ออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป คุณควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมโดยแพทย์ประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจด้วยตนเองไม่ได้พลาดความผิดปกติอะไรไป นอกจากนั้นเมื่อคุณตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ คุณต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป

3. การตรวจเต้านมโดยเครื่องแมมโมแกรม

เครื่องแมมโมแกรมเป็นเครื่องเอ๊กซเรย์แบบพิเศษ ที่จะมีฐานรองรับเต้านมและมีฝาอีกด้านประกบลงมา วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น โดยความผิดปกติที่พบ จากเครื่องแมมโมแกรมและอาจบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การมีหินปูนแบบละเอีอดอยู่ในเต้านม (microcalcification) พบก้อนที่มีลักษณะแข็ง (solidmass) เป็นต้น การตรวจแมมโมแกรมอาจจะตามด้วยการทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์เต้านม (ultrasound of breast) เพื่อดู ให้ละเอียดอีกที นอกจากตรวจเต้านมแล้วการทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ยังดูความผิดปกติ ที่ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้อีกด้วย




การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยเบื้องต้น : การตรวจทางรังสีวิทยาและการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ

เมื่อตรวจพบก้อนที่เต้านม คุณต้องไปพบแพทย์ทันที แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านมอย่างละเอียด รวมไปถึงการคลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ นอกจากนั้น คุณยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม การตรวจเต้านมด้วยคลื่นเสียงและแมมโมแกรมเป็นวิธีที่ใช้เป็นประจำ การทำคลื่นเสียงนั้นไม่เจ็บและใช้เวลาไม่นาน วิธีนี้ใช้คลื่นเสียงส่งผ่านผิวหนังเข้าไปและทำให้มีภาพข้างใต้ปรากฏขึ้นมา วิธีนี้ใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเต้านมยังมีความหนาแน่นสูงทำให้การทำแมมโมแกรมไม่ชัดเจน

นอกจากนั้น ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบนั้นมีนํ้าอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามีถุงนํ้าเรียกว่า cyst ส่วนแมมโมแกรมเป็นวิธีหนึ่งของเอกซเรย์เต้านม โดยมากใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป วิธีนี้มีประโยชน์มากสำหรับการวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มแรกที่อาจจะยังไม่สามารถคลำก้อนได้ วิธีนี้อาจเจ็บบ้างเนื่องจากเต้านมต้องถูกหนีบไว้ระหว่างแผ่นเหล็ก รองสองแผ่น และใช้วิธีการบีบเข้าหากัน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเจ็บแบบแน่นๆ พอสมควร และไม่มีอันตรายต่อเต้านมจากนั้นถ้าพบความผิดปกติแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยชิ้นเนื้อที่นำออกมานั้นจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการพยาธิวินิจฉัย เพื่อดูว่ามีมะเร็งหรือไม่มีวิธีหลายวิธี ในการนำชิ้นเนื้อไปตรวจ ตั้งแต่การเจาะดูดโดยเข็ม (fine needle aspiration) การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน (coreneedle biopsy) และตัดทั้งก้อนไปตรวจ (excisional biopsy)
 

การเจาะดูดโดยเข็ม :

วิธีนี้แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆเจาะเข้าไปในก้อนและดูดเซลล์มาตรวจ ถ้าก้อนนั้นมีนํ้าก็จะสามารถดูดนํ้าออกมาได้ด้วย

การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน :

เข็มที่ใช้เจาะจะใหญ่กว่าวิธีแรก และแพทย์จะฉีดยาชา เพื่อให้ชาก่อนทำ วิธีนี้จะได้ชิ้นเนื้อออกมาในปริมาณพอสมควร วิธีนี้ดีตรงที่แพทย์พยาธิวินิจฉัย นอกจากจะดูว่าเซลล์ผิดปกติเป็นมะเร็งหรือไม่ ยังสามารถดูว่ามะเร็งลุกลามออกมายังเนื้อเยื่อข้างๆด้วยหรือไม่ ทำให้บอกได้ว่า มะเร็งเต้านมนั้นเป็นแบบเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลาม (in situ) หรือลุกลามออกมาแล้ว (invasive carcinoma)

การตัดทั้งก้อนไปตรวจ : เป็นการผ่าตัดเล็ก นำก้อนทั้งก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยา

78

หลักการรักษามะเร็งเต้านม

  1. การรักษาเฉพาะที่ (local treatment) ได้แก่ การผ่าตัดและการฉายรังสีเพื่อควบคุมรอยโรคที่เต้านมและรักแร้ สิ่งสำคัญที่ต้องบอกคือ มะเร็งเต้านมจะหายได้นั้น จะต้องสามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกายได้จนหมด
  2. การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (systemic treatment) ได้แก่ เคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจมีการกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาที่ ออกฤทธิ์ฆ่าทำลายเซลล์มะเร็งได้ทั่วทั้งร่างกาย

การรักษาแบบ systemic นี้มีได้ทั้งแบบยาฉีด ยารับประทาน หรือ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ โดยหลักการคือเมื่อยาเข้าไปในร่างกายจะสามารถไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ไม่ว่าเซลล์นั้นจะอยู่ที่อวัยวะใด การรักษาแบบ systemic นี้ประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังต่อไปนี้

  1. ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)
  2. ยาต้านฮอร์โมน (antihormonal agents)
  3. การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (targeted therapy
  4. ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด (immunotherapy)

 

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน

ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม